เกษตรแสงสัมพันธ์

ค้นหาบล็อกนี้

วันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2562

>ทฤษฎีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง ศาสตร์พระราชา ความสุขอย่างยั่งยืน ลองปรับใช้ไม่จนแน่นอน


ทฤษฎีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง ศาสตร์พระราชา ความสุขอย่างยั่งยืน ลองปรับใช้ไม่จนแน่นอน
มีนาคม 25, 2019


ทฤษฏีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง เป็นแนวทางที่ใช้ลำดับขั้นเพื่อเดินตามไปทีละขั้น ค่อยๆ ก้าวไปแบบยั้งยืนและมั่นคง ซึ่งหากใครทำตามได้ รับรองว่าไม่มีจนแน่นอน โดยแต่ละขั้นจะมีดังนี้



บันไดขั้นที่ 1-4 คือ เศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐาน

ขั้นที่ 1 พอกิน

พื้นฐานที่สุดของมนุษย์ คือ ความต้องการปัจจัย 4 และประการสำคัญที่สุดของปัจจัย 4 คือ อาหาร ขั้นที่ 1 ของแนวทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืนคือ ตอบคำถามให้ได้ว่า ทำอย่างไรจึงจะพอกินโดยให้ความสำคัญกับ ข้าวปลาอาหาร ไม่ให้ความสำคัญกับเงิน ซึ่งเป็นเพียงแค่ ตัวกลาง ในการแลกเปลี่ยนตามมาตรฐานสากล โดยยึดหลักว่า เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาสิของจริง



เกษตรกรต้องเริ่มจากการอยู่ให้ได้โดยไม่ใช้เงิน มีอาหารพอมี พอกิน ด้วยการปลูกพืช ผัก ผลไม้ ให้พอกิน ชาวนาต้องเก็บข้าวไว้ให้เพียงพอ สำหรับการมีกินทั้งปี ไม่ขายข้าวเปลือกเพื่อนำเงินไปซื้อข้าวสาร

นอกจากนั้น หัวใจสำคัญของพอกิน ยังมีความหมายรวมไปถึงความปลอดภัยในอาหาร กินอย่างไรให้มีสุขภาพดี ไม่สะสมเอาความเจ็บไข้ได้ป่วยไว้ในร่างกาย นี่คือความหมายของบันไดขั้นที่ ๑ ที่เกษตรกรต้องก้าวข้ามให้ได้

ขั้นที่ 2-4 พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น

เกิดขึ้นได้พร้อมกัน ด้วยคำตอบเดียวคือ ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ซึ่งป่า 3 อย่างจะให้ทั้ง อาหาร เครื่องนุ่งห่ม สมุนไพร ให้ไม้สำหรับทำบ้านพักที่อยู่อาศัย และให้ความร่มเย็นกับบ้าน กับชุมชน กับโลกใบนี้ ซึ่งเป็นแนวทางในการแก้ปัญหา ความยาก จน ของเกษตรกรไทย



ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถแก้ปัญหาได้จริง และยังสามารถย้อนกลับไปแก้ไขปัญหาหนี้สิน ซึ่งสะสมพอกพูนจากการทำ เกษตรเชิงเดี่ยว ปัญหาความขาดแคลนนำ ภัยแล้ง ทั้งหมดล้วนแก้ไขได้จากแนวคิดป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่างขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

บันไดขั้นที่ 5-9 คือ เศรษฐกิจพอเพียงขั้นก้าวหน้า

ขั้นที่ 5-6 บุญและทาน

เครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียง เชื่อมั่นว่าสังคมไทยเป็นสังคมบุญ สังคมทาน ไม่เน้นการแลกเปลี่ยนทางการค้า แต่เน้นการทำบุญ ไม่เน้นการสะสมเป็นของส่วนตัว แต่เน้นการให้ทานและสะสมโดยมอบให้ เป็นทรัพย์สินส่วนรวมโดยวัด หรือศาสนสถานตามแต่ละศาสนาเป็นศูนย์กลาง



ตามความหมายอันลึกซึ้งของคำ ยิ่งทำยิ่งได้ ยิ่งให้ยิ่งมี การให้ไปคือได้มา และเชื่อมั่นในฤทธิ์ของทาน ว่าทานมีฤทธิ์จริง และจะส่งผลกลับมาเป็นเพื่อน เป็นกัลยาณมิตร เป็นเครือข่ายที่ช่วยเหลือกันในทุกสถานการณ์ แม้ในวันที่โลกนี้ประสบกับวิกฤตการณ์

ขั้นที่ 7 เก็บรักษา

ขั้นต่อไปหลังจากสามารถพึ่งตนเองได้ พอมี พอเหลือทำบุญ ทำทานแล้ว คือการรู้จักเก็บรักษา ซึ่งเป็นการตั้งอยู่ในความไม่ประมาท และการรู้จักเก็บรักษา ยังเป็นการสร้างรากฐานของการเอาตัวรอด โดยยึดแนวทางตามวิถีชีวิตชาวนาสมัยก่อนซึ่งเก็บรักษาข้าวไว้ในยุ้งฉางเพื่อ ให้พอมีกินข้ามปี



ซึ่งผิดกับวิถีชาวนาในปัจจุบันที่ใช้วิธีการขายข้าวทั้งหมด แล้วนำเเงินที่ขายได้ไปซื้อข้าวเพื่อปลูกในปีต่อไป ส่งผลให้เกิดการขาดความมั่นคงและเปรียบเสมือนการใช้ชีวิตอยู่บนเส้นทางสาย ความประมาท เพราะหากเกิดภัยแล้ง น้ำท่วม ผลผลิตไม่ได้ตามที่ตั้งใจไว้ ย่อมหมายถึงปัญหาหนี้สิน และการขาดแคลนข้าวสำหรับปลูกในปีต่อไป

ขั้นที่ 8 ขาย

เนื่องจากเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่เศรษฐกิจการค้า แต่ก็ไม่ใช่เศรษฐกิจหลังเขา การค้าขายสามารถทำได้ แต่ทำภายใต้การรู้จักตนเอง รู้จักพอประมาณ และทำไปตามลำดับ โดยของที่ขาย คือ ของที่เหลือจากทุกขั้นแล้วจึงนำมาขาย เช่น ทำนาอินทรีย์ ไม่ทำลายธรรมชาติ ได้ผลผลิตเก็บไว้พอกิน



การค้าขายตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นการค้าที่มองกลับด้าน “เพราะรักคุณจึงอยากให้คุณได้รับในสิ่งดีๆ” พอเพียงเพื่ออุ้มชู เผื่อแผ่ แบ่งปัน ไปด้วยกัน

ขั้นที่ 9 เครือข่าย กองกำลังเกษตรโยธิน

คือการสร้างกองกำลังเกษตรโยธิน หรือการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงทั้งประเทศ เพื่อขยายผลความ สำเร็จตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง สู่การปฏิวัติแนวคิด และวิถีการดำเนินชีวิตของคนในสังคม ในชุมชน

ที่มา อ่านเพิ่มเติม คลิก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น